การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน ยิ่งเล่นเด็กยิ่งได้ประสบการณ์ แต่ในปัจจุบันสิ่งที่เด็ก ๆ ส่วนมากกำลังเล่นกลับอยู่ในจอสี่เหลี่ยมของสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งคงไม่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้นัก และคงจะยิ่งไม่ดีหากปล่อยให้เด็กใช้ตามลำพัง ดังนั้น หนังสือที่นอกจากจะมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนานแล้ว ยังให้เด็ก ๆ ได้ร่วมเล่นไปกับหนังสือเล่มนั้น ๆ ด้วย จึงเป็นหนังสือที่ตอบโจทย์คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่อยากให้เด็ก ๆ อยู่กับสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตมากเกินไป
“หนังสืออ่านไปเล่นไป” หรือ "หนังสือกึ่งอินเทอร์แอกทีฟ" จะทำหน้าที่ที่มากกว่าหนังสือทั่วไปที่ทำหน้าที่เพียงบอกกล่าวเรื่องราวผ่านตัวอักษร โดยจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ “สนามเด็กเล่นทางความคิด” ให้เด็ก ๆ สนุกกับการใช้จินตนาการผสมผสานประสบการณ์เดิมวิเคราะห์ภาพและเชื่อมโยงเรื่องราวจนเป็นเรื่องราวที่มีความหมายเฉพาะตน ยืดหยุ่น และไม่ตายตัว
โดยสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ Executive Functons (EF) ซึ่งมีองค์ประกอบ 9 ด้าน จัดเป็น 3 กลุ่มทักษะ ได้แก่
ทักษะพื้นฐาน
1. ความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory)
2. การยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control)
3. การยืดหยุ่น พลิกแพลง ปรับตัว (Shifting หรือ Cognitive Flexibility)
ทักษะกำกับตนเอง
4. การใส่ใจจดจ่อ (Focus Attention)
5. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
6. การประเมินตนเอง (Self-Monitoring)
ทักษะปฏิบัติ
7. การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
8. การวางแผนและดำเนินการ (Planning and Organizing)
9. ความพากเพียรให้บรรลุเป้าหมาย (Goal- Directed Persistence)
การอ่านเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการส่งเสริม EF ในเด็ก
การอ่านนิทานอ่านไปเล่นไปให้เด็กฟัง หรือให้เด็กอ่านเองพร้อมเล่นไปด้วยนั้นจะเกิดการพัฒนาหลายด้านในสมองของเด็ก ได้แก่ การจดจ่อตั้งใจฟัง ต้องยั้งใจจากกิจกรรมอื่น เด็กได้คิด รู้สึก หรือจินตนาการไปตามเนื้อหา โดยนำข้อมูลใหม่ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเดิมในสมอง หากข้อมูลใหม่ต่างไปจากข้อมูลเดิม จะเกิดการปรับเปลี่ยนความคิด ยามที่นิ่งฟัง ภาวะอารมณ์จะสงบหรือไหลลื่นไปตามท้องเรื่อง บางครั้งอาจพาให้เด็กได้สะท้อนคิดกลับมาถึงตนเอง
เนื้อหาของหนังสืออ่านไปเล่นไปหรือนิทานอ่านเล่นยังอาจมีจุดหมายเฉพาะเพื่อส่งเสริมสร้างลักษณะนิสัยด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาทักษะ EF เพิ่มเติม เช่น ส่งเสริมการคิดไตร่ตรอง การกล้าคิดริเริ่ม การวางแผนการงานหรือการมีความมุ่งมั่นพากเพียร
ผู้ใหญ่ควรอ่านให้เข้าใจก่อนที่จะอ่านนิทานอ่านเล่นให้เด็กฟังหรือให้เด็กอ่านไปเล่นไป เพื่อเข้าถึงสาระ จุดหมาย หรือกระบวนการที่มีทักษะสมอง EF แทรกอยู่ จะได้อ่านให้เด็กฟังอย่างมีอรรถรสนำไปสู่การพัฒนา EF ได้อย่างมีชีวิตชีวา และควรตั้งคำถามชวนเด็กคิด วิเคราะห์ หรือจินตนาการไปกับเรื่องราวในหนังสืออย่างแยบคาย มิใช่เพื่อทบทวนความจำหรือตอบให้ตรงเนื้อเรื่องเท่านั้น หากเพื่อให้เรื่องราวในหนังสือนำไปสู่การคิดค้น สร้างสรรค์ เติมเต็มประสบการณ์ให้หลากหลายขึ้น
ระหว่างที่ผู้ใหญ่หรือเด็กกำลังอ่านหนังสืออ่านไปเล่นไป อาจชวนกันทำกิจกรรมที่สอดแทรกในเล่มเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อฝึกฝนและพัฒนาทักษะสมอง EF ให้สอดคคล้องกับเนื้อหาของหนังสืออ่านไปเล่นไปหรือนิทานอ่านเล่นในเล่ม