หน้าหลัก/บทความ/ คลังความรู้เยาวชน / สัมภาษณ์คุณสุดใจ พรหมเกิด (คุณเจ) ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและผู้จัดการแผนงานสสส. /
30 เมษายน 2025
0

สัมภาษณ์คุณสุดใจ พรหมเกิด (คุณเจ) ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและผู้จัดการแผนงานสสส.

favorite

วันนี้มีผู้คนมาเยี่ยมเยือนนานมีบุ๊คส์อยู่หลายท่าน เพราะต่างมาร่วมงาน “Nanmeebooks Reading Education Conference ครั้งที่  2”
ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เป็นประธานในพิธี และมอบรางวัลให้แก่นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้แทนโรงเรียน ทั้งหมด 61 ท่าน

ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “Read to Active Citizen: เพราะการอ่านสร้างตัวตน สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้”
จากบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของเยาวชนและคนไทย
โดยคุณสุดใจ พรหมเกิด (คุณเจ) ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและผู้จัดการแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. มาเล่าถึงประเด็นการขับเคลื่อนการอ่านเชิงนโยบายที่จะช่วย “ปลดล็อกสมองของเด็กไทย”

และในโอกาสอันดี ทีมงานนานมีบุ๊คส์จึงขอเวลาแสนสำคัญของคุณเจ พูดคุยเกี่ยวกับการอ่านของคนไทย ซึ่งได้มุมมองที่น่าสนใจมาก ๆ อยากจะแชร์ให้กับนักอ่านทุกคนค่ะ
นานมีบุ๊คส์: “คุณสุดใจรู้สึกอย่างไรบ้างคะ เกี่ยวกับการอ่านของคนไทยในปัจจุบันนี้”
คุณสุดใจ: “ถ้าเรามองตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติตั้งแต่ก่อนโควิดพบว่า คนที่ให้ความสําคัญกับเรื่องหนังสือและการอ่านถือว่ายังมีน้อย ถ้าดูจากตัวเลขมีประมาณ 1.1 ล้านครัวเรือนที่ไม่มีหนังสือสําหรับเด็กเล็กเลย

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราพยายามรณรงค์ว่า อย่างน้อยรัฐบาลต้องจัดสวัสดิการหนังสือให้กับเด็กแรกเกิดอย่างต่ำ 3 เล่ม ตามบันทึกข้อตกลงที่ประเทศไทยทําไว้กับองค์กร Unicef “แต่ข่าวล่าสุดก็พบว่า คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น อาจแปรไปอ่านบนพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการอ่านในพื้นที่ออนไลน์ก็นับว่าเป็นการอ่านเช่นกัน  แต่ถามว่า อ่านแล้วมันสร้างสรรค์ไหมมันทําให้เกิดนวัตกรรมหรือเปล่า
เหมือนอย่างที่ ‘ท่านองคมนตรีเกษม วัฒนชัย’ ได้กล่าวไว้ในงาน Nanmeebooks Reading Education Conference ครั้งที่ 2 ‘เพราะการอ่านสร้างตัวตน สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้’ ว่า ถ้าการอ่านนั้นไม่สามารถนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และไม่นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ยากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“อยากให้คนไทยลองสร้างพื้นฐานในครอบครัวรุ่นใหม่ อย่างน้อย ๆ ก็สร้างพฤติกรรมอ่านหนังสือให้ลูกฟัง คุณครูเด็กเล็กหรือคุณครูโรงเรียนอนุบาลก็ต้องรับรู้ว่าสิ่งนี้คือภารกิจโดยตรงของเขา ที่ทําให้เด็กรักการอ่านและรักหนังสือ อาจปลูกฝังให้เด็กรักหนังสือก่อนที่จะรักการอ่านก็ได้ ให้เด็กมีความสุข ความเพลิดเพลิน ความรื่นรมย์  แล้วพบว่าหนังสือนั้นตอบโจทย์มิติลึก ๆ
ภายในพวกเขาได้ตั้งแต่เล็ก ๆ  แล้วหลังจากนั้นเขาก็จะจัดการความรู้ได้ด้วยตัวเอง และทําให้การอ่านกลายเป็นวิถีชีวิตจริง ๆ  ต่อให้เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มอะไรก็แล้วแต่ แต่ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความรื่นรมย์ในชีวิตก็ยังเป็นวิถีการอ่านที่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับเด็ก ๆ ได้ค่ะ 

นานมีบุ๊คส์: “คิดว่าแนวหนังสือที่คนสมัยก่อนอ่านกับปัจจุบันอ่าน มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ”
คุณสุดใจ: “ช่วงหลังมานี้ ต้องขอชื่นชมสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ที่นําเข้าหนังสือดีระดับโลก  อาจจะลองเทียบจากหนังสือเด็กเล็กก็ได้ สมัยก่อนหนังสือเด็กเล็กผลิตโดยฝีมือคนไทยน้อยมาก แต่ระยะหลังมานี้ในประเทศไทยก็มีคนที่ออกแบบหนังสือได้ดีมากยิ่งขึ้น

“ถึงแม้จะเป็นเพียงสำนักพิมพ์เจ้าเดิม ๆ นักเขียนนักวาดคนเดิม ๆ  แต่เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องก็ได้รับการพัฒนาไปมาก  เห็นได้ชัดจากงาน ‘Bologna Bookfair’ ระยะหลังมาก็จะเชิญสํานักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานด้วย อย่างสำนักพิมพ์รุ่งอรุณก็ได้รับเชิญไปจัดแสดงงานด้วยเช่นกัน “ประเทศไทยเรามีงานวาดงานเขียนซึ่งไม่ยึดติดขนบเดิม ๆ มากขึ้น อย่างหนังสือเด็กของไทยในสมัยก่อนก็จะเน้นการสั่งสอน  แต่ช่วงหลังมานี้เนื้อหาของหนังสือเด็กมีการเปิดกว้างเรื่องจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ หรือเรื่องที่ตอบโจทย์วิกฤตแห่งอนาคตได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าหนังสือเด็กในประเทศไทยตอนนี้มีความหลากหลายมากขึ้นนะคะ “นี่ยังไม่นับความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง จะเห็นว่าในประเทศไทยผลิตหนังสือออกมาตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้นเช่นกันค่ะ”


นานมีบุ๊คส์: “ในปัจจุบันเรามีหนังสือเด็กที่ถือเป็นสื่อสร้างสรรค์อยู่เยอะมาก แต่ก็มีสื่อไม่สร้างสรรค์แอบแฝงอีกมากมายเช่นกัน ซึ่งหลายครอบครัวในปัจจุบันพร้อมตื่นตัวและร้องเรียนต่อสื่อไม่สร้างสรรค์เหล่านี้ นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสื่อสร้างสรรค์เลยใช่ไหมคะ”
คุณสุดใจ: “จริง ๆ เราก็มีความพยายามหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นการรวมพลังกันแล้วก็เรียกร้อง พร้อมกับค่อย ๆ ทําให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ เช่นการเกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การเกิดไทยพีบีเอส เราก็จะเห็นว่าความพยายามด้าน การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัยก็มีอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า เด็ก ๆ ยังมีพื้นที่ส่วนตัวที่เด็กสามารถเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเร้า พูดตรงๆ เลยนะคะ จู่ๆ จะมาเปิดกาสิโน ทั้งๆ ที่เรายังไม่แข็งแรงเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน การเรียนรู้เลย มันก็จะผิดฝาผิดตัวไปนิดหนึ่ง  แต่เราทําอะไรไม่ได้มาก

“กลุ่มพ่อแม่เองก็ต้องรวมพลังกัน รวมถึงกลุ่มที่มีภารกิจรับผิดชอบโดยตรง ด้านการศึกษาด้านการเรียนรู้ของเด็กต้องทําให้เรื่องของวัฒนธรรมการอ่าน แข็งแรง  แข็งแกร่ง แล้วก็เป็นรากฐานที่ทําให้เด็ก สามารถคิดวิเคราะห์ได้ จัดการความรู้ได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ

“ซึ่งจริง ๆ เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นว่า มันมีโมเดลใหม่ใหม่เยอะมาก ของต่างประเทศก็เยอะมากเราสามารถเรียนรู้สิ่งที่ดีเอามา  Apply เพื่อทําให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการอ่านการเรียนรู้ของเราได้จริง ต่อให้คอนเทนต์มาในรูปแบบไหน เด็กเราก็สามารถที่จะแยกแยะวิเคราะห์ แล้วก็คัดสรรได้ว่าอะไรที่เหมาะ อะไรที่ควรสําหรับตัวเอง

นานมีบุ๊คส์: สุดท้ายนี้ทีมงานนานมีบุ๊คส์อยากให้คุณสุดใจฝากความรู้สึกถึงนักอ่านรุ่นใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มหันมาสนใจการอ่านหนังสือในยุคสมัยปัจจุบันนี้
“จริง ๆ นักอ่านรุ่นใหม่สามารถเลือกเสพสื่อที่ตัวเองสนใจได้ แต่มันมีหลักการของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านการเรียนรู้ อะไรที่มันไม่ใช่สิ่งที่เราสนใจ บางทีเราก็จําเป็นที่จะต้องเปิดโลกของเรา เพื่อเรียนรู้สิ่งนั้นไปด้วย  คู่ขนานไปกับสิ่งที่เราชอบที่เราอ่าน ศึกษา ค้นคว้าอย่างลึกซึ้งกับมันได้
“แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโลกกว้างอีกด้านหนึ่งให้กับตัวเองว่า ‘ใช่หรือไม่ใช่’ เพื่อที่อย่างน้อย ๆ ก็นำมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเรียนรู้ให้กับตัวเราเอง  ไม่ต้องปฏิเสธไปทั้งหมดก็ได้ เพียงแต่ต้องเลือกรับ แล้วก็เลือกคัดสรร ว่าเรื่องนี้มันเหมาะแล้วที่จะเอามาประดับเรา หรือในบางเรื่องลองตัวสินใจเรียนรู้มันซะหน่อยถ้ามันเป็นเรื่องใหม่ ๆ  ไม่จําเป็นต้องยึดติดในสิ่งที่เราลุ่มหลงเพียงอย่างเดียว อยากให้เปิดกว้างทางความคิด ทางการตอบรับเรื่องอื่น ๆ เพื่อการคัดกรองที่ดีที่มันจะมาตกผลึกเป็นเราอีกทีหนึ่งค่ะ

เป็นคำตอบที่เปิดมุมมองการอ่านมากมายเลยทีเดียวค่ะ ขอขอบพระคุณคุณสุดใจ พรหมเกิดเป็นอย่างยิ่งที่สละเวลามาพูดคุยกับเรา และฝากข้อคิดเกี่ยวกับการอ่านอย่างเข้มข้นและชวนรู้

นานมีบุ๊คส์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโลกของหนังสือภาพสำหรับเด็กในประเทศไทยจะเติบโต สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

รวมถึงขอบคุณบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับหนังสือภาพทุกคนที่ตั้งใจรังสรรค์นิทานแต่ละเล่มมาเป็นอย่างดี เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้รับทักษะทั้งทางความคิดและการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพนะคะ


หนังสือที่เกี่ยวข้อง

หนังสือที่เกี่ยวข้อง

ลูกค้าสัมพันธ์
การช่วยเหลือ
บริการต่างๆ
เกี่ยวกับเรา
เลขที่ 11 ซอยสวัสดี ซอย สุขุมวิท 31
แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา
กรุงเทพมหานคร 10110

ตรวจสอบสถานะการจัดส่ง
ติดตามเราได้ที่
ช่องทางการชำระเงิน
  • Mastercard
  • Visa
© 2025 nanmeebooks.com All Right Reserved.